อติภพ ภัทรเดชไพศาล
หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2553
ผมทราบมาว่าภาพยนตร์เรื่อง “พลเมืองจูหลิง” หรือ Citizen Juling กำกับโดยไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ และมานิต ศรีวานิชภูมิ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ในมุมมองที่แตกต่าง
แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแล จากสื่อใดๆ หนังเรื่องนี้ออกฉายแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แค่โรงเดียวคือที่เฮ้าส์ อาร์ ซี เอ ในช่วงเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งก็คงมีคนได้ดูสักสี่ร้อยคนกระมัง
ล่าสุดได้ข่าวว่ามีการนำเสนอขอออกอากาศทาง Thai PBS แต่ก็ดูเหมือนทีวีสาธารณะจะไม่ใช่สาธารณะจริงๆ เสียแล้ว เพราะทำท่าว่าเรื่องนี้จะเงียบหายไปกับสายลมอีกนั่นแหละ
ผมเองก็อยู่ในฐานะที่ต้อง เดือดร้อนไปด้วย เพราะความที่อยากดูแต่ไม่ได้ดู
ยิ่งได้ข่าวว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ถึงกับเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล เอเชีย แปซิฟิก ฟิล์ม อวอร์ดส์ ประจำปี พ.ศ.2552 ก็ยิ่งแปลกใจว่าทำไมโรงหนังต่างๆ หรือกระทั่ง Thai PBS จึงเพิกเฉย และกระทำการที่เหมือนกับเซ็นเซอร์ตัวเองไปเสียง่ายๆ อย่างนั้น
ที่จริงเรื่องของครูจูหลิงสะท้อนภาพสังคมไทยได้หลายแง่หลายมุม ทั้งในแง่ของความตายของพลเมืองหนึ่งคน หรือในแง่ที่ทางรัฐหยิบจับความตายครั้งนี้มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือกระทั่งในแง่ที่ว่าชาวบ้านในพื้นที่จริงๆ แล้วคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
ที่จริงครูจูหลิงเป็นสัญลักษณ์ของรัฐไทย ในฐานะของความเป็นครูที่ใช้ "ภาษาไทย" ซึ่งเป็นเครื่องมือหล่อหลอมจากทางรัฐ ย่อมหลีกเลี่ยงจากความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์กับพื้นที่ตรงนั้นไม่ได้อยู่แล้ว
เพราะ "ภาษา" นั้นคือเครื่องมือในการครอบงำจากทางฝ่ายรัฐ การควบคุม "ภาษา" ได้นั้นหมายถึงการควบคุม "ความคิด" ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นความล้มเหลวที่จะนำภาษาไทยเข้าไปครอบงำภาษาท้องถิ่นมาเป็นเวลานาน ย่อมเป็นจุดบกพร่องที่ทำให้รัฐไทยรู้สึกไม่มั่นคงตลอดมา
เพราะรัฐไทยไม่เคยยอมรับความแตกต่าง อุดมการณ์ของรัฐไทยเป็นอุดมการณ์ชาตินิยมพ้นสมัย ที่ยังฝังหัวอยู่แต่ระบอบการปกครองแบบอาณานิคม
อันเป็นการควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจากบนลงมาล่าง และการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ อย่างเดียวที่รัฐชนิดนี้รู้จัก ก็คือการฆ่าและการทำลายล้างเท่านั้น
ชาตินิยมทางการแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนอย่างเช่นใน ยุโรป แต่เกิดขึ้นจากการสั่งการและปลูกฝังจากชนชั้นนำ ดังนั้นชาตินิยมทางการจึงมองไม่เห็นหัวประชาชนคนธรรมดา และเหยียดหยามสิ่งที่อยู่นอกเหนือจาก “ความเป็นไทย” ให้กลาย “เป็นอื่น” ไปเสียสิ้น
และความเป็นไทยที่พูดถึงนั้นก็ มีความหมายอยู่แค่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเท่านั้น
ถ้ามองย้อนกลับไปจะเห็นว่ารัฐปัตตานีนั้นที่จริงเป็นรัฐที่ยิ่งใหญ่ เก่าแก่ยิ่งกว่าสุโขทัย และมีบทบาททางการค้าต่อกรุงศรีอยุธยาอย่างมากมาตลอด
ความบาดหมางอย่างแท้จริงเริ่มขึ้นจากการที่สยามไปทำลายล้างปัตตานีในสมัย รัชกาลที่ 1 นั่นแหละ เพราะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เราก็ได้เห็นในภาพประวัติศาสตร์มากมายที่แสดงให้เห็นว่าชนชั้นนำเก่าใน ปัตตานีพยายามที่จะปลดแอกตนเองจากสยามมาอย่างต่อเนื่อง
ยิ่งมาผนวกเข้ากับการก่อตัวของรัฐชาติที่เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยแล้ว สถานะของสี่จังหวัดชายแดนใต้ ยิ่งถูกเหยียดออกให้ “เป็นอื่น” แล้วกลายสภาพมาเป็นคนในบังคับของกฏหมายไทยอย่างสมบูรณ์เมื่อมีการ เปลี่ยนชื่อประเทศสยามมาเป็นประเทศไทยในปี พ.ศ. 2482 นั่นเอง
โดยที่ไม่ได้คิดเลยว่าจริงๆ แล้วประชากรทั้งแผ่นดินสยาม - หรือจะว่าทั้งดินแดนสุวรรณภูมิก็ได้ ล้วนแต่เป็นพี่น้องกัน มีวัฒนธรรมร่วมกัน ยิ่งถ้าย้อนกลับไปในช่วงก่อนประวัติศาสตร์จะพบได้ว่าแผ่นดินทั้ง ผืนตั้งแต่กวางสีลงไปถึงหมู่เกาะอินโดนีเซียนั้นเป็นผืนเดียวกันทั้งสิ้น ดังข้อเขียนของสุจิตต์ วงษ์เทศที่ว่า
“นับล้านๆ ปีมาแล้ว ดินแดนสี่จังหวัดชายแดนใต้ไม่อยู่ติดทะเล ทั้งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เพราะมีผืนแผ่นดินต่อเนื่องยืดยาวออกไปอีกไกลมาก แล้วสมมติชื่อเสียงผืนแผ่นดินนี้ว่า “แผ่นดินซุนดา”” (สี่จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส, สตูล ของสุจิตต์ วงษ์เทศ - ต้นฉบับร่าง พ.ศ. 2552)
จึงไม่แปลกใจที่เราจะพบวัฒนธรรมฆ้องทั่วไปหมดทั้งยูนนาน-กวางสีไล่ไปจนถึง ดนตรีกาเมลันของอินโดนีเซีย หรืออย่างวัฒนธรรมหนังตะลุงที่พบบนผืนแผ่นดินใหญ่ได้เหมือนๆ กับที่พบวายังกุลิตในชวา
หรืออย่างภาชนะสามขาที่ปรากฏขึ้นในราว 4,000 ปีที่แล้ว และพบกระจัดกระจายทั่วไปตั้งแต่บริเวณริมลำน้ำแควน้อย แควใหญ่ไล่ไปจนถึงมาเลเซีย
ความเข้าใจในกันและกันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจความสัมพันธ์ทาง วัฒนธรรมในอดีต เท่านั้น การอธิบายเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ จะเป็นวิธีแก้ปัญหาเรื่องอคติและมุมมองผิดเพี้ยนที่เรามีต่อกัน และกันได้อย่างแท้จริง
http://www.oknation.net/blog/insanetheater/
